ปากเซ เมืองหลวงของ แขวงจำปาสัก จากชายแดนช่องเม็ก ในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านด่านวังเต่า ชายแดนของลาวที่ชาวบ้านจะนำสินค้ามาวางขาย ตามทางหลวงหมายเลข10 ซึ่งเป็นถนนลาดยางอย่างดี ระยะทางประมาณ42 กิโลเมตร ก็จะถึงสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น มีความยาว1,380เมตร ข้ามแม่น้ำโขงมาถึงเมืองปากเซ เมืองหลวงจำปาสัก ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของลาว สมัยนั้นฝรั่งเศสตั้งเมืองจำปาสักขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับเมืองหลวงจำปาสัก(วัดบ้านทุ่ง) ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ ย้อนกลับไปถึงยุคก่อนเข้ามาตั้งรกรากของขอมโบราณ เมืองปากเซไม่มีอารยธรรมเก่าแก่เหมือนกับเมืองจำปาสัก แต่กลับมีความหลากหลายของเชื้อชาติ ประเพณี วัฒนธรรม มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ราว70,000คน นอกจากชาวลาวแลัวยังมีชาวจีนและชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยตั้งรกรากทำมาหากินอยู่เป็นจำนวนมาก บรรยายกาศโดยทั่วไปในเมืองปากเซ เงียบสงบเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
แขวงจำปาสัก ปรากฏชื่อในพงศาวดารเขมรว่า สะมะพูปุระ เมื่ออาณาจักรฟูนันเสื่อมอำนาจ คนลาวได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาสร้างบ้านเรือน กลายเป็นเมืองใหม่นามว่า จำปานะคะบุลีสี หรือ จำปานคร ถึงรัชสมัยเจ้าฟ้างุ้มได้ทรงรวบรวมเมืองต่างๆของลาวเข้ามาเป็นอาณาจักรเดียวกัน ชื่อ อาณาจักรล้านช้าง เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองในทุกด้าน มีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง แต่เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มสิ้นพระชนม์ อาณาจักรล้านช้างเริ่มตกต่ำลง เพราะสงครามแย่งชิงอำนาจและการก่อกบฏต่างๆนานนับร้อยปี จนถึงพระเจ้าโพธิสารขึ้นครองราชย์และรวบรวมแผ่นดินขึ้นใหม่ และได้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง มาอยู่ที่เวียงจันทน์ เพื่อให้ไกลจากการรุกรานของสยาม อาณาจักรล้านช้างเจริญมาได้200ปีเศษ ก็เริ่มอ่อนแอลงแตกแยกออกเป็น3ฝ่ายคืออาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์ และอาณาจักรจำปาสัก ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชระแวงว่า ลาวจะร่วมมือกับพม่ายกทัพมาตีไทย จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(รัชกาลที่1) ยกทัพไปตี ลาวทั้ง3 อาณาจักร และตกเป็นของไทยนาน114ปี จนถึงพ.ศ.2436 ไทยต้องยกลาวให้แก่ฝรั่งเศส แต่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่2ฝรั่งเศสเริ่มอ่อนแอ ญี่ปุ่นได้เข้ามาปกครองแทน แต่ภายหลังสิ้นสงครามโลกญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสได้กลับมาปกครองลาวอีกครั้ง จนถึงปีพ.ศ.2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามที่ค่ายเดียนเบียนฟู ลาวได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ แต่กลับมาถูกสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงทางการเมืองและการทหาร กลุ่มลาวรักชาติจึงได้ร่วมกันต่อสู้ จนสหรัฐอเมริกาล่าถอย ลาวได้เปลี่ยแปลงการการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ยกเลิกสถาบันเจ้าชีวิตหรือสถาบันกษัตริย์ โดยเจ้าชีวิตองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรจำปาสักคือ เจ้าบุญอุ้ม

สะพานข้ามแม่น้ำเซโดน ใจกลางเมืองปากเซ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือเรียกโดยย่อว่า สปป.ลาว ตั้งอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิหรืออินโดจีน ระหว่างละติจูดที่14-23องศาเหนือ และลองติจูดที่100-108องศาเป็นประเทศมรสุมเขตร้อนในเอเชียอาคเนย์ ประเทศลาวมีพื้นที่ประมาณ236,800กิโลเมตร พื้นที่ทางตอนใต้แคบกว่าทางตอนเหนือ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและราบริมแม่น้ำโขง มีภูเขาเป็นเทือกยาวติดต่อ กั้นพรมแดนด้านตะวันออกระหว่างประเทศลาว กับเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้เรียกว่า"ภูแดนแกว"ส่วนทางใต้มีภูเขาพนมดงรักเป็นพรมแดนธรรมชาติ กั้นกลางระหว่างลาวกับกัมพูชา มีแม่น้ำสายสำคัญ คือแม่น้ำโขงหรือที่คนลาวเรียกว่าแม่น้ำของเป็นเส้นแบ่งเขตแดนทั้งสองประเทศ มีความยาวทั้งสิ้น1,400กิโลเมตรแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศลาว เป็นช่วงที่มีความกว้างที่สุดถึง12กิโลเมตร ยามน้ำลดเกาะแก่งต่างๆ จะผุดขึ้นมากมายจนทำให้ชื่อว่า"สี่พันดอน"หรือคนไทยเรียกว่า"ศรีพันดอน"เกาะที่มีขนาดใหญ่และมีคนอาศัยอยู่คือ ดอนโขง

ปราสาทหินวัดภู ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจำปาสัก มาทางทิศใต้ประมาณ10กิโลเมตรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในอดีตที่ตั้งของ"วัดภู"เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแห่งอารยธรรมโบราณถึง3สมัยด้วยกันคือ อาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่6–8ค้นพบจารึกกล่าวถึงการฆ่าคนเพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ต่อมาเป็นยุคของ อาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ที่เลือกบริเวณนี้เป็นที่สร้างปราสาทหินในราวศตวรรษที่9 และสุดท้าย อาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาท
น้ำตกคอนพะเพ็ง อยู่ห่างจากบ้านนากะสังลงมาราว10 กิโลเมตร และห่างจากบ้านท่าม่วงลงมาราว8กิโลเมตร คอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกที่ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่บนแก่งหินขนาดใหญ่ ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย มีลักษณะต่างระดับกันสูงประมาณ10เมตร ซึ่งแม้จะมีชั้นของหินไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำที่ไหนถามโถมลงมามีความรุนแรงมาก ด้วยแม่น้ำโขงทั้งสายไหลลงมาจากนั้นจะแยกออกเป็นหลายสาย สาเหตุเพราะแรงดันของน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าถาโถมกระหน่ำลงมาจากชั้นหิน ราวกับจะถล่มทลายแก่งหินอย่างดุดันและเกรี้ยวกราด สร้างความตื่นตาที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว สมกับคำร่ำรือและยกย่องให้เป็น ไนแองการ่า แห่งเอเชีย ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่กระโจนบิดตัวปะทะแก่งหินน้อยใหญ่ กระจายเป็นละอองไอน้ำแทรกตัวอยู่ตามแก่งหิน

สิ่งก่อสร้างต่างๆ ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส เช่น สะพานปูนที่ฝรั่งเศสสร้างทิ้งไว้ เชื่อมระหว่างเกาะดอนเด็ดและเกาะดอนคอน ในสมัยก่อนเรือขนถ่ายสินค้าพยายามหลีดเลี่ยงเกาะแก่งมากมายที่ขวางทางโดยการขนสินค้าขึ้นรถไปแล่นไปบนเกาะระยะทาง12 กิโลเมตร แล้วจึงค่อยขนไปลงเรืออีกครั้ง วันนี้เป็นอนุสรณ์ให้ชม

น้ำตกหลี่ผี(ตาดสมพะมิด) ตั้งอยู่ในเขตดอนคอน ในแก่งหลี่ผี ที่ไหลถาโถมผ่านเนินหินโขดหินลงมาด้วยกำลังแรงแตกเป็นละอองสีขาวไปทั่วแก่งดูสวยงามตื่นตามาก
หลี่ เป็นภาษาลาว หมายถึง เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายลอบ ส่วนคำว่า ผี หมายถึง ศพคนตาย ซึ่งบริเวณน้ำตกหลี่ผีจะมีกระแสน้ำไหลบ่าตามพื้นที่ราบ ผ่านแผ่นหิน แล้วไหลตกลงมาตรงช่องซอกเขาที่แตกแยกออกจากัน กระแสน้ำสีเขียวเข้มในหน้าแล้งหรือสีชาในฤดูฝนจะไหลบ่าตกลงมาเบื้องล่าง จากนั้นไหลบ่าตกลงมา เบื้องล่าง จากนั้นจึงไหลไปตามรอยแยกของซอกเขาเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร จุดที่พบศพจำนวนมากคือบริเวณร่องหินของน้ำตกหลี่ผี บริเวณนี้กระแสน้ำจะไหลมารวมตัวกัน เป็นแอ่งขนาดใหญ่ จากนั้นน้ำจะวนไปมาแล้วจึงไหลตกลงไปด้านล่างซอกและหลืบหินแคบๆ ทำให้ศพของทหารในสมัยสงครามอินโดจีนจำนวนมากลอยมาติดในหลี่จับปลา ชาวลาวจึงเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า หลี่ผี

สะพานแขวนด้านหน้าที่น้ำตกตาดผาส้วม เป็นสะพานไม้ไผ่

น้ำตกตาดผาส้วม แค่ชื่อฟังดูแล้วไม่คุ้นหูสำหรับคนไทย แต่จริงๆแล้ว คำว่า"ส้วม" ของลาวหมายถึงห้องนอนที่กั้นไว้สำหรับลูกสาวลูกเขยโดยเฉพาะ ส่วนคำว่า"ตาด" แปลว่า ลานหินที่เป็นชั้นๆ จุดเด่นของน้ำตกตาดผาส้วมคือ สายน้ำที่ไหล่ผ่านผาหินขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแท่งๆ รูปร่างคล้ายห้องหอของคู่บ่าวสาว

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ที่รวบรวมเอาหมู่บ้านโบราณของหลายชนเผ่า จัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม เช่น บ้านของชาวกระตู้ หอกวน

สินค้าพื้นเมืองของชนเผ่า

น้ำตกตาดอีตู้

เก็บความประทับใจไว้ที่ "น้ำตกตาดอีตู้"

เตียงนอนนุ่มๆ หลับสบายๆ ของโรงแรม จำปาสัก แกรนด์ (ระดับ 4 ดาว)
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพักของโรงแรม

อาหารเช้าสไตล์ ABF

ข้าวต้มร้อนๆ พร้อมเครื่องเคียงที่หลากหลาย

เมนูทุกๆ อย่างน่ารับประทานทั้งนั้นเลยค่ะ

มุมสุขภาพต้องมา "มุมสลัด" กับ "มุมผลไม้" ค่ะ
รับชา / กาแฟ หรือว่า น้ำผลไม้สักแก้ว มั้ยค่ะ